จากข้อมูลโดยรวมทั่วโลกในเดือนเม.ย. 2020 พบว่า มีผู้ใช้งาน (Active Users) ในโซเชียลมีเดียถึง 3.81 พันล้านคน จากประชากรทั้งหมด 7.77 พันล้านคน หรือคิดเป็น 49% ของประชากรทั้งหมด ซึ่งถือว่าเยอะมาก ๆ เลยทีเดียว
ผู้คนใช้เวลากับอุปกรณ์สื่อสารต่าง ๆ มากขึ้น
จากผลสำรวจประชากรอายุระหว่าง 16-64 ปีใน 17 ประเทศพบว่า ผู้คนใช้เวลาไปกับอุปกรณ์สื่อสารหรืออุปกรณ์ที่ให้ความบันเทิงในชีวิตประจำวันเพิ่มมากขึ้น โดยใช้เวลาไปกับสมาร์ทโฟนมากถึง 76% รองลงมาก็จะเป็นพวกแลปท็อป คอมพิวเตอร์ และแท็บเลต แต่ที่มาแอบมาแรงอยู่ไม่น้อยก็เห็นจะเป็นพวกสมาร์ททีวีหรืออุปกรณ์สตรีมมิงต่าง ๆ เพราะเมื่อคนส่วนใหญ่ต้องกักตัวอยู่ที่บ้าน ก็อาจจะไม่มีอะไรทำ เล่นโซเชียลมีเดียนาน ๆ ก็เบื่อ ก็เลยหันมาดูสตรีมมิงออนไลน์กันมากขึ้นนั่นเอง
ผู้คนใช้เวลาในการทำกิจกรรมออนไลน์นานยิ่งขึ้น
ส่วนใหญ่ผู้ใช้งานจะใช้เวลาไปกับการดูหนัง ซีรีส์ ฟังเพลง หรือสตรีมมิงออนไลน์ และโซเชียลมีเดียเป็นหลักนานยิ่งขึ้น โดยกิจกรรมอันดับ 1 ที่ผู้ใช้งานใช้เวลาอยู่กับมันนานมากขึ้นก็คือ การดูรายการและภาพยนตร์ผ่านช่องทางสตรีมมิงต่าง ๆ มากถึง 57% รองลงมาก็จะเป็นการใช้โซเชียลมีเดีย 47% และที่ตามมาติด ๆ ก็คือการใช้บริการส่งข้อความ 46%
พฤติกรรมในการเสพสื่อของผู้บริโภคเปลี่ยนไป
ผู้คนเริ่มกลับมาให้ความสนใจในการติดตามข่าวสารบ้านเมืองมากถึง 35% เพราะสถานการณ์ COVID-19 ในตอนนี้เป็นอะไรที่ต้องจับตาดูทุกวินาทีจริง ๆ เพราะมีอะไรเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะในทางบวกหรือทางลบก็ตาม (แต่ก็อย่าลืมมีวิจารณญาณในการเสพข่าวกันด้วยนะ) รองลงมาก็ยังคงเป็นเรื่องของการดูรายการและหนังต่าง ๆ ผ่านบริการสตรีมมิง (29%) การใช้บริการส่งข้อความต่าง ๆ (24%) และการใช้โซเชียลมีเดีย (23%) ตามลำดับ
ซึ่งผู้ใช้งานบางส่วนก็มีแพลนที่จะยังทำกิจกรรมหรือพฤติกรรมแบบนี้ต่อไป ถึงแม้ว่าสถานการณ์ COVID-19 จะดีขึ้นหรือจากไปแล้วก็ตาม เหมือนชอบการใช้ชีวิตแบบนี้ไปแล้ว
ผู้คนตระหนักเกี่ยวกับ COVID-19 แบบก้าวกระโดด
ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2020 ซึ่งถือว่าเป็นช่วงที่ไวรัส COVID-19 กำลังทำให้ทั่วโลกปั่นป่วนมาก ส่งผลให้ CORONAVIRUS ติด Top 3 ของคำที่มีผู้ใช้งานเสิร์ชมากที่สุดบน Google และในเดือนมี.ค. 2020 ก็กวาดไปถึง 4 คียเวิร์ดที่ผู้ใช้งานเสิร์ชบน Google มากที่สุด ได้แก่ CORONAVIRUS, CORONA, CORONA VIRUS และ COVID 19
นอกจากนี้ จาก 20 คีย์เวิร์ดที่มียอดการเสิร์ชพุ่งสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงเดือนมี.ย. 2020 ก็มีคีย์เวิร์ดที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ COVID-19 ไปเกินครึ่งเลยทีเดียว
วิดีโอคอนเทนต์ยังคงครองแชมป์
สำหรับประเภทคอนเทนต์ที่ผู้บริโภคชอบเสพมากที่สุด ก็ยังคงเป็นคอนเทนต์รูปแบบวิดีโออยู่ ซึ่งมีมากถึง 90% เลย แต่ก็ต้องเป็นวิดีโอที่มีเนื้อหาดีและมีคุณภาพนะ เพราะไม่ใช่ทุกคลิปที่คนดูจะกดดูหรือดูจนจบ
Facebook ยืนหนึ่งเรื่องความนิยม
Facebook ยังคงเป็นอันดับหนึ่งของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่มีผู้ใช้งานมากที่สุดในโลก ส่วนแพลตฟอร์มอื่น ๆ ใน 5 อันดับแรกก็ล้วนเป็นแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียจ๋าหมดเลย ยกเว้นอันดับ 2 ที่เป็น YouTube
ผู้ใช้งานทุก Gen เล่น Social Media นานขึ้น
ธุรกิจที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นวัยกลางคนหรือผู้สูงอายุ ยังพอมีลุ้นในการทำการตลาดออนไลน์ในช่วงนี้ เพราะผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียกลุ่มอายุ 45-54 ปี และ 55-64 ปีเผยว่า ได้ใช้เวลาในการเล่นโซเชียลมีเดียเพิ่มมากขึ้นถึง 34% และ 32% ตามลำดับ ซึ่งถือว่าไม่น้อยเลย
ข้อมูลที่น่าสนใจในแต่ละแพลตฟอร์ม (Social Media)
>> Facebook
– จำนวนผู้ใช้งาน Facebook ที่การยิงแอดสามารถเข้าถึงได้ (Reach) มีมากถึง 2.02 พันล้านคน
– ประเทศไทยติดอันดับ 8 ของโลกที่มียอด Reach ในการยิงแอดสูงที่สุด (48,000,000 Reach)
– ผู้ใช้งาน Facebook ช่วงอายุ 25-34 ปี เป็นกลุ่ม Audience ที่ใหญ่ที่สุด (658,000,000 Audience)
– รูปแบบคอนเทนต์ที่ได้ค่าเฉลี่ย Engagement สูงที่สุดคือ “วิดีโอ” (6.15%)
>> Instagram
– จำนวนผู้ใช้งาน Instagram ที่การยิงแอดสามารถเข้าถึงได้ (Reach) มีมากถึง 970 ล้านคน
– ประเทศไทยติดอันดับ 15 ของโลกที่มียอด Reach ในการยิงแอดสูงที่สุด (13,000,000 Reach) และเป็นอันดับ 6 ของโลกที่ยังคงมียอด Reach เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่อง
– ผู้ใช้งาน Instagram ช่วงอายุ 25-34 ปี เป็นกลุ่ม Audience ที่ใหญ่ที่สุด (335,000,000 Audience)
– รูปแบบคอนเทนต์ที่ได้ค่าเฉลี่ย Engagement สูงที่สุดคือ “รูปภาพ” (1.64%) และตามมาติด ๆ ด้วยวิดีโอและคอนเทนต์ประเภทใดก็ได้บน Instagram (1.52%)
>> Twitter
– จำนวนผู้ใช้งาน Twitter ที่การยิงแอดสามารถเข้าถึงได้ (Reach) มีมากถึง 386 ล้านคน
– ประเทศไทยติดอันดับ 14 ของโลกที่มียอด Reach ในการยิงแอดสูงที่สุด (7,350,000 Reach)
ถึงแม้ว่าอันดับ 1 ของแอปพลิเคชันที่มี Active Users มากที่สุดจะเป็น Facebook เจ้าเก่าเจ้าเดิม แต่ถ้าสังเกตดี ๆ จะเห็นว่า TikTok พุ่งทะยานมาจนถึงอันดับ 6 แล้ว และคาดว่าจำนวนผู้ใช้งานน่าจะพุ่งสูงขึ้นไปได้อีกจากช่วงกักตัวนี้ ต้องมารอดูว่าในรายงานครั้งหน้า TikTok จะสามารถแซงขึ้นไปอยู่ Top 5 หรือ Top 3 ได้ไหม
แต่ถ้าเป็นในเรื่องของอันดับแอปพลิเคชันที่มียอดดาวน์โหลดสูงที่สุด อันนี้ TikTok คว้าแชมป์ไปครองเรียบร้อย
ในส่วนของแอปพลิเคชันที่ผู้ใช้งานยอมเสียเงินเพื่อใช้บริการมากที่สุด กลับกลายเป็นแอปพลิเคชันที่เกี่ยวกับไลฟ์สไตล์หรือสตรีมมิง มากกว่าโซเชียลมีเดีย ได้แก่ Tinder (แอป ฯ หาคู่), YouTube, Netflix, iQiyi (แพลตฟอร์มสตรีมมิงคล้ายกับ Netfilx เป็นบริษัทลูกของ Baidu), Tencent Video (แพลตฟอร์มสตรีมมิงของจีน) และอื่น ๆ
ตลาด E-COMMERCE กลับมาเฟื่องฟูอีกครั้ง
แน่นอนว่าช่วงนี้ห้างร้านต่าง ๆ แบบออฟไลน์ ไม่สามารถเปิดให้บริการได้ตามปกติ รวมไปถึงลูกค้าเองก็ไม่อยากเสี่ยงกับการออกจากบ้าน พฤติกรรม Online Shopping จึงมีเพิ่มมากขึ้น ดูได้จากข้อมูลดังต่อไปนี้
– มีการค้นหาสินค้าและบริการออนไลน์มากถึง 81%
– มีการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์สำเร็จมากถึง 74%
– หากนับแค่ลูกค้าที่สั่งซื้อสินค้าออนไลน์ผ่านโทรศัพท์มือถือจะพบว่า กลุ่มลูกค้าอายุ 25-34 ปีมีอัตราการสั่งซื้อมากที่สุด คือ 57% รองลงมาจะเป็นกลุ่มลูกค้าอายุ 35-44 ปี (54%) และ 16-24 ปี (55%) ตามลำดับ
– กลุ่มลูกค้าทุกช่วงอายุใช้เวลาไปกับการซื้อของออนไลน์มากขึ้น โดยกลุ่มลูกค้าที่ใช้เวลามากที่สุดจะเป็นกลุ่มลูกค้าอายุ 25-34 ปี (53%) 16-24 ปี (46%) และ 35-44 ปี (50%) ตามลำดับ
– แต่กลับกลายเป็นว่ากลุ่มลูกค้าเกือบทุกช่วงอายุ มักจะเป็นเพศชายที่ใช้เวลาในการซื้อของออนไลน์มากกว่า จะมีเพียงกลุ่มลูกค้าอายุ 55-64 ปี ที่เพศหญิงใช้เวลามากกว่า
ผู้บริโภคสนใจสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ประเภทไหนมากที่สุด ?
สินค้าเกี่ยวกับการอุปโภคและบริโภคมาแรงที่สุด เพราะอย่างที่เราทราบกันดีว่าการออกไปซื้อเองข้างนอกค่อนข้างเสี่ยง จึงหันมาสั่งซื้อตามช่องทางออนไลน์กันมากขึ้น โดยสินค้าประเภทอาหารพร้อมทานและอาหารสดเป็นที่ต้องการอันดับ 1 (33%) อันดับ 2 จะเป็นพวกของใช้จำเป็นภายในบ้าน (29%) และของใช้ส่วนตัวเป็นอันดับ 3 (27%)
และแน่นอนว่า เมื่ออาหารพร้อมทานและอาหารสดเป็นความต้องการของผู้บริโภคมาเป็นอันดับ 1 เว็บไซต์ซุปเปอร์มาร์เก็ตจึงได้ยอด Traffic มาเป็นอันดับ 1 เช่นกัน ส่วนเว็บไซต์ธุรกิจเครื่องประดับ, สินค้า Luxury Brand และธุรกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยวค่อนข้างซบเซามาก ยอดตกทั้ง Traffic และ Income เลย เพราะในสถานการณ์แบบนี้ส่วนใหญ่ผู้บริโภคจะเซฟเงินกันพอสมควร เพื่อนำมาใช้จ่ายกับสิ่งที่จำเป็นมากกว่าก่อน
แล้วแบรนด์ควรทำโฆษณาตามปกติไหม ?
จัดทำแคมเปญกันต่อได้เลยจ้า เพราะลูกค้าส่วนใหญ่ไม่ได้รู้สึกแย่หรือต่อต้านการเห็น Ads ในช่วงนี้ เผลอ ๆ อาจจะรู้สึกดีด้วยซ้ำ เพราะการที่พวกเขาเห็น Ads ต่าง ๆ ทำให้รู้สึกถึงความปกติในชีวิต