ช่วงนี้ใคร ๆ ก็บ่นกันระงมว่า ค่าโฆษณาตามแพลตฟอร์มต่าง ๆ มันช่างแพงซะเหลือเกิน ที่เห็นกันแบบชัด ๆ ก็จะมี Facebook Ads ที่มีแนวโน้มว่าราคาจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ และ Packages ใหม่จาก LINE Official Account (LINE OA) ที่มีคำครหามากมายว่าไม่น่าใช้เอาซะเลย
แต่ถึงแม้ว่าเราจะไม่ชอบใจกับราคาเหล่านี้กันแค่ไหน เราก็ยังต้องใช้มันอยู่ดี เพียงแต่อาจจะต้องเลือกใช้แพลตฟอร์มให้ตรงกับวัตถุประสงค์ เพื่อให้เกิดความคุ้มค่ามากที่สุด เพราะแต่ละแพลตฟอร์ม ก็มีข้อดีข้อเสียที่แตกต่างกันออกไป และที่สำคัญก็คือราคาที่ต่างกันนั่นเอง
.
วันนี้ นินจาการตลาดขอตั้งเวทีดีเบตกันไปเลยว่า ระหว่าง “LINE OA Packages” กับ “Facebook Ads” ใครคุ้มกว่าถ้าต้องลงทุนทำการตลาด ?
อ่านต่อ

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ในยุคนี้ยังไงก็ต้องทำการตลาดออนไลน์ เพื่อความอยู่รอดของธุรกิจ แต่จะต้องเลือกใช้แพลตฟอร์มอะไรในการทำการตลาดให้คุ้มค่า และประหยัดงบที่สุดนั้น เป็นอะไรที่ตอบได้ยากมาก และเอาจริง ๆ ก็ไม่มีคำตอบที่ตายตัวหรอก
.
แต่อย่าเพิ่งกดออก ! ถึงเราจะให้คำตอบแบบชัดเจนแจ่มแจ้งไม่ได้ว่าอะไรคุ้มสุดหรือดีสุด แต่เรามีข้อมูลที่น่าสนใจมานำเสนอนะ


มาเริ่มกันที่ Facebook กันก่อนดีกว่า ต้องบอกเลยว่า Facebook นั้น เป็นแพลตฟอร์มที่ออกแบบมาให้มีความครอบคลุมทุกระยะทุกขั้นของ Customer Journey เลย คือทำได้ตั้งแต่สร้างการรับรู้แบรนด์ การพิจารณา การปิดการขาย ไปจนถึงการสร้างการกระตุ้นการซื้อซ้ำ
.
ยกตัวอย่างให้เห็นง่าย ๆ เลย เช่น ฟีเจอร์การชำระเงินผ่านธนาคารที่สะดวกมาก ๆ ใน Inbox ที่ออกแบบมาตอบสนอง Journey ช่วงการตัดสินใจซื้อได้ค่อนข้างดี รวมถึง Custom Audience ที่เก็บฐานกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้ชมวิดีโอ ผู้เข้าเว็บไซต์ ฯลฯ นำมาสร้างโฆษณาเพื่อยิงใส่ได้ในขั้นของการตัดสินใจซื้อ และรวมถึงขั้นการซื้อซ้ำด้วย
.
ขั้นที่เป็นที่นิยมที่สุด ก็คงหนีไม่พ้นขั้นของการสร้างการรับรู้ ที่ Facebook ดูเหมือนจะชนะทุก ๆ แฟลตฟอร์มที่มีอยู่ในตอนนี้ ถึงแม้จำนวนผู้ใช้ Social Media อื่น ๆ ที่เป็นคู่แข่งขันของ Facebook อย่าง LINE หรือแม้แต่ YouTube จะมีตัวเลขของผู้ใช้งานไม่ต่างกันเท่าไหร่ คือเยอะมาก ๆ ใกล้เคียงกันทั้ง 3 แพลตฟอร์ม ซึ่งถือว่าเป็นแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย 3 อันดับแรก ที่คนไทยใช้เยอะที่สุด อาจมีสลับตำแหน่งกันไป ๆ มา ๆ บ้าง แต่บอกได้เลยว่า Facebook ถือว่าเป็นที่นิยมที่สุดในการนำมาเป็นเครื่องมือช่วยสร้างการรับรู้
.
ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น ลองนึกเล่น ๆ กันครับว่า ถ้ามีเวลา 1 ชม. แล้วเราเลือกเล่นระหว่าง Facebook กับ YouTube โดยใช้เวลา 1 ชม. เท่า ๆ กัน คุณคิดว่าแพลตฟอร์มไหนจะทำให้เจอได้มีโอกาสเจอคอนเทนต์มากกว่ากัน
.
ใช่ครับ คำตอบคือ Facebook เพราะบน YouTube พฤติกรรมของคนนั้น มักจะมีความตั้งใจที่จะเข้ามาดูเนื้อหาใดเนื้อหาหนึ่ง เต็มที่ 1 ชม. ก็คงดูได้เต็มที่ ไม่น่าเกิน 10 contents อันนี้เผลอ ๆ รวมโฆษณาที่แทรกเข้ามาช่วงต้นวิดีโอและระหว่างชมวิดีโอด้วยนะ
.
ส่วนด้าน Facebook นั้น พฤติกรรมจะแตกต่างกว่า YouTube มาก เพราะเราเลือกที่จะใช้วิธีสไลด์หน้าจอไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะเจอสิ่งที่สนใจ แล้วค่อยหยุดดู ซึ่งการดูแต่ละเนื้อหานั้น ก็มักจะใช้เวลาไม่มากเท่าไหร่นัก นั่นทำให้ 1 ชม. เราจะได้เจอเนื้อหาเยอะมาก ๆ อาจจะแตะหลักร้อยเลยด้วย

อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว… ดูเหมือนว่า Facebook จะเป็นแพลตฟอร์มที่เหมาะสำหรับการสร้าง Brand Awareness มากกว่าแพลตฟอร์มอื่น ๆ เลยทีเดียว เพราะเข้าถึงคนได้ง่าย กว้าง และเยอะกว่า
.
แต่เขาเองก็พยายามทำให้ตัวแพลตฟอร์มตอบโจทย์ทุกขั้นของ Customer Journey ให้ได้ ตามที่เล่าให้ฟังข้างบน ซึ่งเอาจริง ๆ ถ้าถามว่า Facebook ใช้ได้ผลดีทุกระยะไหม ก็ต้องบอกเลยว่าไม่ขนาดนั้น
.
ลองนึกถึงการยิงแอดสิว่า เวลาที่เราเลือกกลุ่มเป้าหมายเนี่ย เราสามารถเลือกได้เยอะและกว้างมาก แทบจะเลือกใครก็ได้เลย ไม่จำเป็นต้องรู้จักหรือกดถูกใจเพจเรามาก่อน ก็สามารถยิงแอดไปถึงพวกเขาเหล่านั้นได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเราไม่ได้แนะนำให้คุณยิงหว่านไปทั่วนะ แค่เล่าให้เห็นภาพเฉย ๆ ว่า Facebook สามารถเข้าถึงผู้ใช้งานได้เยอะเท่านั้นเอง

ซึ่งถ้าหากว่าเราต้องการสร้าง Brand Awareness ให้มากขึ้นผ่าน Facebook ด้วยการยิงแอด ก็ต้องไปโฟกัสที่ราคา Cost Per Impressions หรือค่าโฆษณาต่อการแสดงผล 1,000 ครั้ง (หากยังไม่รู้จักหรือไม่เข้าใจในเรื่องนี้ แนะนำให้ไปย้อนดูไลฟ์ในเพจนินจาการตลาดก่อนนะ เพราะถ้าให้อธิบายตรงนี้คงอ่านกันไม่ไหวแน่)
.
โดยค่าเฉลี่ยของราคา Cost Per Impressions จากที่เราได้สังเกตมา จะอยู่ที่ประมาณ 100 บาท/ 1,000 impressions บางครั้งเห็นอยู่ที่หลักสิบก็มีเหมือนกัน แต่เอาเป็นว่ามันจะตกอยู่ที่ประมาณ 0.1 บาท/ 1 impressions ซึ่งก็ดูไม่ได้แพงมากสำหรับการสร้าง Brand Awareness เพราะ Brand Awareness ถือว่าเป็นด่านแรกที่สำคัญมากในการทำธุรกิจ

แต่ถ้ามองในมุมของการปิดการขาย การแชทพูดคุยกับลูกค้า รวมไปถึงการ Retargeting ก็ดูเหมือนว่า Facebook จะเป็นรอง LINE อยู่นิดหน่อย เพราะด้วยไลฟ์สไตล์ของคนสมัยนี้ ที่ดูเหมือนว่าจะนิยมใช้ LINE ในการสื่อสารมากกว่า และส่วนใหญ่จะรู้สึกว่า LINE มีความเป็นส่วนตัวมากกว่า จึงทำให้การปิดการขายผ่าน Facebook อาจจะปิดได้ยากกว่าใน LINE นั่นเอง
.
ที่บอกว่า LINE ให้ความเป็นส่วนตัวมากกว่าก็คือ หากเราเป็นลูกค้าที่สนใจในสินค้าของเพจ ๆ หนึ่ง แล้วกดทักเข้าไปผ่าน Inbox คนขายสามารถกดเข้าไปดูโปรไฟล์ส่วนตัวเราได้นะครับ แตกต่างจาก LINE หากเราทักเข้าไปที่ LINE OA ของร้านค้า เจ้าของร้านค้านั้น ไม่สามารถเข้าไปถึงข้อมูลโปรไฟล์ของเราได้นะครับ ไม่รู้ว่าเราเป็นใคร ดูได้แต่รูปโปรไฟล์เท่านั้น ซึ่งนี้ก็ถือเป็นเรื่องหนึ่งที่ลูกค้าส่วนหนึ่งชอบที่จะเลือกใช้ LINE ในการทักเข้าไป เพื่อสอบถามหรือซื้อสินค้ากับร้านค้าต่าง ๆ เพราะมีความรู้สึกถึงความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวที่มากกว่า


ในส่วนของ LINE Official Account (LINE OA) แพลตฟอร์มใหม่ แต่หน้าเดิมจาก LINE (LINE@) ที่เพิ่งปล่อยให้เราได้เริ่มใช้งานกันไปสด ๆ ร้อน ๆ ซึ่งก็มีกระแสอยู่มากมายว่า ราคาแพ็กเกจไม่ค่อยสบายกระเป๋าเท่าไหร่ ดูแล้วไม่น่าจะคุ้ม ฯลฯ อย่าเพิ่งด่วนตัดสินใจกันไปก่อนนะครับ มาดูราคาแพ็กเกจใหม่ (ที่เขาบอกว่าปรับลดแล้วนะ) กันก่อนดีกว่า

Photo: www.linebiz.com/th/service/line-account-connect/

จะเห็นได้ว่าราคาสูงสุดจากแพ็กเกจ Pro นั้น ราคาต่อข้อความจะอยู่ที่เดือนละ 1,500 บาท/ 35,000 ข้อความ หรือเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 0.04 บาท/ ข้อความ ถ้าถามว่าแพงไปไหม คุ้มหรือเปล่า อันนี้คงตอบไม่ได้จริง ๆ ขึ้นอยู่กับการใช้งานล้วน ๆ เลยครับ

สำหรับ LINE Official Account น่าจะเหมาะกับ Customer Journey ในช่วงกลางถึงท้ายมากกว่า เพราะเป็นช่วงที่ลูกค้ารู้จักและสนใจเราในระดับนึงล่ะ ทีนี้จะปิดการขายได้หรือไม่ได้ก็อยู่ที่การพูดคุยกันนี่แหละ เพราะก็ต้องพูดกันตรง ๆ ว่า LINE ไม่สามารถสร้าง Brand Awareness ได้ในตัวแพลตฟอร์มของมันเอง คือจริง ๆ ก็พอทำได้นะ แต่ผลลัพธ์อาจจะไม่ได้หวือหวาเท่ากับใน Facebook ดังนั้นอาจจะต้องยืมมือแพลตฟอร์มอื่นมาสร้าง Brand Awareness เสียก่อน แล้วค่อยดึงมาปิดการขายใน LINE OA


แต่ในด้าน Retargeting ก็ค่อนข้างยืนหนึ่งอยู่พอสมควร เพราะแน่นอนว่าเหล่า Followers ใน LINE OA ของเราส่วนใหญ่ ล้วนแล้วแต่เป็นกลุ่มเป้าหมายที่รู้จักและสนใจเราอยู่เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ดังนั้นการที่เราจะยิงแอด หรือ Broadcast ข้อความออกไป เพื่อ Retargeting ไปที่กลุ่มลูกค้าเดิม ก็สามารถทำได้แม่นยำกว่า
.
ถึงตรงนี้ก็อยากลองให้พวกเราลองดูตัวเลขกันสักนิดนึง ระหว่างตัวเลข Fix Cost ที่ 0.04 บาท ของ LINE OA ที่จะคิดเป็นค่าส่งข้อความไปยังกลุ่มเป้าหมาย 1 คน กับตัวเลขเฉลี่ยที่ 0.1 บาท ของ Facebook Ads ที่คิดเป็นค่าแสดงผลไปยังกลุ่มเป้าหมาย 1 คน อันไหนที่คุ้มกว่ากันแน่ ๆ
.
ถ้ามองวัตถุประสงค์ของการขาย เอาจริง ๆ แล้ว LINE น่าจะเป็นตัวเลือกที่ลูกค้าน่าจะมีความสบายใจมากกว่าการใช้ Inbox แล้วถ้าตัวเลขค่าใช้จ่ายต่อการส่งความความไปถึงลูกค้า 1 คน เป็นแบบข้างบนนี้ ดู ๆ ไปแล้ว LINE OA ยังมีความน่าใช้มากอยู่ไม่น้อยนะ
.
อันนี้ยังไม่นับรวมเรื่องของรูปแบบ Content ที่ Facebook เป็นแบบการแสดงผลบน Timeline ที่ไม่ได้เฉพาะเจาะจงบุคคล เหมือนกับ LINE OA ที่ Broadcast ไปยังเฉพาะบุคคลนั้น ๆ
.
อยากให้ลองประเมินกันให้ดี ๆ ก่อนตัดสินใจนะครับ

คำถามที่อยากให้คิดกันให้ตกก่อนที่จะให้สรุปว่า ระหว่าง LINE OA Packages กับ Facebook Ads ใครคุ้มกว่าถ้าต้องลงทุน ก็คงยืนยันคำเดิมว่าตอบไม่ได้จริง ๆ เพราะขึ้นอยู่กับหลาย ๆ เรื่อง ตั้งแต่รูปแบบของ Model ธุรกิจ ไล่ไปถึงประเภทสินค้าและบริการ รวมถึงวัตถุประสงค์ในการทำการตลาดของคุณด้วยว่า ต้องการทำแคมเปญเหล่านั้น ด้วยวัตถุประสงค์ใด เช่น หากต้องการสร้าง Brand Awareness ก็อาจจะเลือกใช้ Facebook Ads เป็นตัวช่วยในการเข้าถึงผู้คนหรือกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น หรือถ้าเน้นการปิดยอดขาย ก็อาจจะเลือกใช้ LINE OA ก็ได้ เพราะเอาจริง ๆ แล้ว ตอนนี้ก็ยังไม่มีแพลตฟอร์มไหนที่ทำได้เพอร์เฟกต์ 100% ในทุกกระบวนการของ Customer Journey เราอาจจะเลือกใช้ให้เหมาะสมตามจุดเด่นของแพลตฟอร์มนั้น ๆ และตามวัตถุประสงค์ในการทำงานตลาดและการยิงแอดของเรา

สามารถติดตามเนื้อหาสุด Exclusive ของนินจาการตลาดที่ไม่ได้ลงที่ไหนและคอร์สเรียนฟรี ให้พิเศษเฉพาะใน Facebook กลุ่มปิด “Digital Media Planning 2020” คลิกไปขอเข้าร่วมได้เลย มีอัปเดตเนื้อหาอยู่ตลอด
