สำรวจดูหน่อยนะครับ ถ้าคุณยังแยกไม่ออกอยู่ว่าสิ่งที่ทำอยู่นั่นคือ Strategy หรือ Tactics การเติบโตอาจจะติดลบอย่างไม่รู้ตัว
เรื่องนี้ต้องยอมรับครับว่าหลายคนเองยังมองไม่ออกว่าสิ่งไหนคือ Strategy สิ่งไหนคือ Tactics บางคนยังคิดไปเองด้วยซ้ำว่ามันคือเรื่องเดียวกัน ไม่เห็นต้องไปแยกอะไรมันเลย ดังนั้นก่อนอื่นเลยผมขออธิบายความแตกต่างระหว่างคำทั้งสองคำนี้ก่อนนะครับ
อ่านต่อ

Strategy กลยุทธ์คือการเลือกที่จะทำ และไม่ทำอะไร
.
ถ้าใครเคยได้อ่านหนังสือหรือดูภาพยนต์แนวสู้รบสงครามย้อนยุคทั้งไทย จีน ฝรั่ง จะเห็นว่าแม่ทัพนายกองต้องมีการประชุมหาหรือเพื่อวางแผนกลยุทธ์ก่อนออกรบพุ่งเสมอ และภาพที่เห็นอยู่ประจำคือภาพที่เหล่าขุนศึกกางแผนที่ยุทธภูมิสงครามหรือแม้แต่เป็นโมเดลสามมิติที่อาศัยเอาของต่างๆ มาทำเป็นจุดหรือตำแหน่งให้เข้าใจชัดแจ้งในภาพเดียวกัน สำหรับทุกคนในที่ประชุมนั้น
.
“หากการศึกครั้งนี้สามารถเจรจาความกันได้ คงไม่เสียเลือดเสียเนื้อแต่คงต้องยอมยกดินแดนบางส่วนให้ศัตรูไปบ้าง แต่ถ้าเราจะรวบรวมแผ่นดินให้ได้ครบก็คงต้องใช้กำลังรบพุ่งเท่านั้น”
.
พอมองเห็นอะไรไหมครับกับย่อหน้าข้างบน ถ้าสังเกตุได้ จะเห็นว่ามันมีทางเลือกให้อยู่สองทาง คือ 1. เจรจา และ 2. รบพุ่ง
.
ซึ่งทั้งสองทางเป็นกลยุทธ์ที่ต้องเลือกทั้งคู่ แต่แตกต่างกันตรงวัตถุประสงค์สุดท้ายของกลยุทธ์นั้นๆ ระหว่าง 1. เรายอมได้แค่ไหน หรือ 2. เราต้องการได้มาแค่ไหน
.
ถ้าเลือกที่จะเจรจาแล้ว การรบพุ่งก็อาจจะไม่มี แต่ถ้าเลือกรบพุ่งแล้วการเจรจาก็อาจจะไม่เกิดขึ้นอีกง่ายๆ แน่นอน
.
ทางธุรกิจก็เช่นกันครับ กลยุทธ์คือการเลือกกระทำและไม่กระทำอะไรเพื่อให้ได้เป้าหมายตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ หากเลือกแนวทางกลยุทธ์ได้ถูก ธุรกิจก็จะผงาด เช่นกันหากเลือกผิดก็อาจส่งผลร้ายต่อธุรกิจได้

เครดิตภาพ: Lost Bladesman สามก๊ก เทพเจ้ากวนอู

Tactics คือศิลปแห่งการจัดเรียงลำดับเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์กลยุทธ์
.
Tactics หรือ ชั้นเชิง ผมค่อนข้างชอบคำแปลนี้นะ ซึ่ง Tactics เอง ในภาษาอังกฤษเวลาแปลมาเป็นไทย ก็มีความหมายถึง “กลยุทธ์” ด้วยเช่นกัน ไม่รู้ว่าเพราะเหตุนี้หรือเปล่าที่ทำให้เราแยกไม่ออกระหว่างคำสองคำนี้
.
ขอย้อนกลับไปที่ประชุมของเหล่าขุนศึกเพื่อเปรียบเทียบภาพให้เราเห็นกันต่อนะครับ
.
เมื่อที่ประชุมได้เลือกแล้วว่าจะเจรจา ก็คงต้องเลือกทูตหรือบุคคลที่เหมาะสมกับการเจรจาให้ได้ผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ของกลยุทธ์การเจรจาที่เลือกไว้ ซึ่งก็คงยอมให้เสียดินแดนน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ดังนั้นการเลือกคนจึงต้องคิดให้มาก เพราะแต่ละคนก็มีเทคนิคและทักษะในการเจรจาต่อรองต่างกันไป บางคนเน้นจริงจังขึงขัง บางคนเน้นโอนอ่อนผ่อนตาม ซึ่งการเลือกนั้นจะมีผลต่อผลลัพธ์สุดท้ายต่างกันไป หากมั่นใจในกลยุทธ์การเจรจาแล้วแต่กลับเลือกคนที่ไม่เก่งด้านการเจรจาไป ผลที่ออกมาก็คงไม่เป็นไปตามที่ตั้งไว้แน่นอน ซึ่งการเลือกคนนั้นก็คือ Tactics ที่ตอบสนองให้กลยุทธ์นั้นๆ ประสบผลสำเร็จได้นั่นเอง
.
มาดูอีกมุมกันบ้างหากเหล่าขุนศึกเลือกแนวทางกลยุทธ์การรบพุ่งแทนล่ะ ทีนี้ก็ต้องมาคุยแล้วล่ะว่าจะรบยังไง ทัพไหนจะบุก ทัพไหนจะสนับสนุน
.
หลายครั้งมีการถกเถียงกัน บ้างว่าจะต้องบุกไปเข้าตีทางบก เพราะเป็นทางที่คุ้นชินที่สุด น่าจะได้เปรียบข้าศึก
.
บ้างก็เสนอว่าควรให้กำลังพลเดินอ้อมไปทางเนินเขา เพราะยุทธภูมิที่สูงกว่าย่อมได้เปรียบข้าศึกในการทำสงคราม
.
บ้างก็เสนอว่าควรต้องล่องเรือไปทางน้ำเพื่อตีฝั่งตรงข้ามเพราะข้าศึกไม่อาจได้ทันระวังตัวว่าใครจะใช้เส้นทางน้ำมาโจมตี และไพร่พลฝั่งเราไม่ต้องใช้กำลังเยอะเท่ากับเดินเท้าหรือขึ้นเนินเขาสูง จะทำให้มีพลกำลังเหลือมากพอที่จะต่อสู้และได้ชัยชนะกลับมา
.
พอเริ่มเห็นภาพและเข้าใจมากขึ้นอีกบ้างแล้วใช่ไหมครับ ใช่ครับในความหมายของทั้งสามทางมันคือ Tactics นั่นเอง
